10 อาหารควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากกระตุ้นความเสี่ยงโรคมะเร็ง !


10 อาหารควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากกระตุ้นความเสี่ยงโรคมะเร็ง !

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคมะเร็ง คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย โดยข้อมูลในปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากถึง 60,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งก็คือ อาหาร เนื่องจากอาหารต่าง ๆ ที่เรากินเข้าไปในทุกวันนี้บางชนิดก็มีสารพิษปนเปื้อนอยู่มาก ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ และเมื่อทานไปนาน ๆ ก็เป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งได้

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารที่มีไขมันสูง ผ่านความร้อนซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และอาหารที่มีสารต้องห้าม นอกจากนี้พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดี อย่างการกินอาหารซ้ำ หรือการกินอาหารไม่สุก ก็เป็นสาเหตุที่ไปกระตุ้นโรคมะเร็งด้วย ฉะนั้นในวันนี้ เราจึงมีอาหาร 10 ประเภทที่ควรหลีกเลี่ยง งด และลดปริมาณ เพื่อไม่ให้ไปกระตุ้นจนเป็นโรคมะเร็งมาเตือนให้คนรักสุขภาพระวังในการรับประทานค่ะ
     

1. น้ำอัดลม 

          น้ำอัดลมประกอบไปด้วยน้ำ ก๊าซคาร์บอนิก และน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน โดยโรคอ้วนจะทำให้ผู้หญิงผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นสารกระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อเต้านมแบ่งตัวเพิ่มขึ้น จนเจริญเติบโตผิดปกติ และหากร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ เซลล์เหล่านั้นก็อาจจะกลายเป็นมะเร็ง ดังนั้นการดื่มน้ำอัดลมมาก ๆ จึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้
      
2. แอลกอฮอล์

          ถึงแม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ แต่ถ้าดื่มมากเกินไปย่อมไม่เกิดผลดีแน่ ๆ เพราะอาจเพิ่มโอกาสหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตก รวมทั้งโรคมะเร็งที่หลายคนกลัวกัน โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นโรคมะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งเต้านมได้ แต่หากใครจำเป็นต้องดื่มจริง ๆ ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำให้เลือกดื่มไวน์จะดีกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมกับผู้หญิงคือวันละ 1 แก้ว ส่วนผู้ชายสามารถดื่มได้วันละ 2 แก้ว

3. อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารทอด หรือมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ

          แม้มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบหรือ อาหารฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ จะมีรสชาติอร่อยถูกปาก ถูกใจใครหลายคน แต่ต้องระวังไว้หน่อยค่ะ เพราะอาหารกลุ่มนี้ก็อาจทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งได้เช่นกัน เนื่องจากในมันฝรั่งทอดและอาหารฟาสต์ฟู้ดจะมีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และเกลือโซเดียมสูง ทานมาก ๆ นอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงอีกต่างหาก แถมในระหว่างทอดในอุณหภูมิสูง ๆ ยังเกิดสารก่อมะเร็งอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ที่มาจากน้ำมันที่เติมไฮโดรเจน ซึ่งถ้าบริโภคมาก ๆ ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร หรือถ้าสูดดมเข้าไปมาก ๆ ในระหว่างที่ทำอาหารก็เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด และยังทำลายระบบประสาทด้วย
       
4. ไขมันทรานส์ 

          ไขมันทรานส์ (Trans Fat) คือ ไขมันที่เกิดจากการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้เป็นไขมันอิ่มตัว โดยการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช ซึ่งจะทำให้อาหารคงสภาพเดิม เก็บได้นาน ไม่เหม็น และมีรสชาติดีขึ้น พบมากในมาการีนที่เป็นส่วนผสมในของหวานและเบเกอรี่ต่าง ๆ เช่น โดนัท แครกเกอร์ บิสกิต คุกกี้ที่หลายคนโปรดปราน แต่รู้ไหมว่า หากทานเข้าไปมาก ๆ ไขมันทรานส์จะไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-cholesterol) และไปลดคอเลสเตอรอลที่ดีลง (HDL- cholesterol) ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น แถมไขมันทรานส์ยังมีส่วนเพิ่มอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งด้วย ทำให้ปัจจุบันนี้มีหลายประเทศประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ในอาหารแล้วด้วยนะคะ
    
5. น้ำตาล แป้งขัดขาวและขนมปังขัดขาว

          อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล แป้งขัดขาว หรือขนมปังขัดขาว แทบไม่มีวิตามินแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลงเหลือให้ร่างกายเท่าไรเลยค่ะ เพราะจะเหลือก็เพียงแค่น้ำตาลกับคาร์โบไฮเดรต ซึ่งถ้าทานมาก ๆ นอกจากความอ้วนจะถามหาแล้ว ยังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานอีกต่างหาก เพราะคาร์โบไฮเดรตขัดขาวกลุ่มนี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำตาลกลูโคสได้เร็วมาก ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นไขมันเก็บสะสมในร่างกาย ตามมาด้วยความเสี่ยงโรคมะเร็งตับอ่อนที่จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น ตับอ่อนก็ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างน้ำดีไปย่อยไขมัน อีกทั้งอาหารหวาน ๆ และแป้งขัดขาวยังจัดเป็นอาหารชั้นดีของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นถ้าทานอาหารกลุ่มนี้มาก ๆ ก็เท่ากับเรากำลังเลี้ยงมะเร็งให้เติบโตอยู่ในร่างกายเลยนะ

          แต่ถ้าใครชอบทานขนมปังจริง ๆ แนะนำให้เปลี่ยนมาทานขนมปังโฮลเกรนแทน เพราะมีผลวิจัยจาก American journal of epidemiology ระบุว่า การทานโฮลเกรนแทนแป้งขัดขาวสามารถช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้
      
6. เนื้อแดง เนื้อแปรรูป 

          เนื้อแดง และเนื้อแปรรูป เช่น แฮม ฮอตดอก ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน มักจะมีดินประสิวเป็นส่วนประกอบ เพื่อถนอมเนื้อสัตว์ให้ดูน่ากิน คงสภาพเดิม ช่วยยับยั้งแบคทีเรียและกันบูด แต่สารพวกนี้ก็ถือเป็นสารก่อมะเร็งด้วย นอกจากนี้ในเนื้อสัตว์ยังมีไขมันอิ่มตัวอยู่เยอะ เมื่อนำไปปรุงในอุณหภูมิที่ร้อนจัดสามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งเอชซีเอ (Heterocyclic Amine - HCA) ซึ่งทำให้เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ดังนั้นจึงควรทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูปให้น้อยลง หันมาบริโภคเนื้อสัตว์สีขาวให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สารก่อมะเร็งต่าง ๆ ไปสะสมในร่างกาย
         
7. อาหารเค็ม ดอง ปิ้ง ย่าง รมควัน

          การบริโภคอาหารที่ใส่เกลือหรือดองด้วยเกลือในปริมาณมาก เพื่อให้มีรสชาติเค็ม นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งหลอดอาหาร นอกจากนี้จากการวิจัยและทดลองจากสัตว์ของ ดร.สตีเฟน ทอมป์สัน สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งอเมริกา ยังพบว่าเกลือเป็นสารโซเดียมคลอไรด์ ที่ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไป ยังสามารถไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่โตได้ไวขึ้น

          ส่วนอันตรายจากการปิ้ง ย่าง และรมควันนั้นมาจากการทำอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงจนก่อให้เกิดสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) และอาจเกิดสารไพโรไลเซต (Pyrolysates) จากการไหม้ของเนื้อสัตว์ ซึ่งสารตัวนี้ร้ายแรงกว่าสารอะฟลาท็อกซิน 6-100 เท่า อาจทำให้เราเป็นมะเร็งได้ และหากอาหารที่นำมาปิ้ง ย่าง รมควัน เป็นอาหารทะเล ก็สามารถทำให้ได้รับสารไนโตรซามีน (nitrosamines) ที่เป็นสารก่อมะเร็งตับ และมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มอีกด้วย

          นอกเหนือจากนั้นอันตรายของการปิ้งย่างยังมาจากสารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon - PAH) ซึ่งมาจากน้ำของการเผาไหม้ไขมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปที่ถ่าน จนเป็นควันพิษชนิดเดียวกับควันรถ หรือควันบุหรี่ลอยขึ้นมาติดกับเนื้อสัตว์ที่เรากิน ซึ่งถ้าบริโภคมาก ๆ อาจเกิดเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่นกันค่ะ ทางที่ดีควรนำส่วนที่เป็นไขมันออกก่อนที่จะนำไปทำอาหาร ใช้ไฟที่ไม่ร้อนจัดจนเกินไป และถ้าเป็นไปได้ควรเลือกใช้เตาไร้ควันจะดีที่สุด

8. อาหารที่ใส่สีผสมอาหาร

          อาหารที่มีสีสันสดใส แม้จะดูน่าทาน แต่อาจแฝงโรคมะเร็งอยู่ก็เป็นได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักมีการเติมสีผสมอาหารลงไป ซึ่งเราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า สีสันนั้นมาจากสีผสมอาหารจริง ๆ หรือเป็นสีย้อมผ้าซึ่งพ่อค้าแม่ค้านิยมใช้ เพราะมีต้นทุนถูกกว่า โดยลืมนึกถึงอันตรายต่อสุขภาพของผู้ทาน ทำให้เราได้รับสารพิษต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว และเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้

          หรือในกรณีที่พ่อค้าแม่ค้าใส่สีผสมอาหารจริง ๆ อย่างสีผสมอาหารที่สังเคราะห์ทางเคมีลงไป แล้วเรากินมาก ๆ ก็ส่งผลไม่ดีต่อร่างกายอยู่ดี เพราในสีผสมอาหารที่สังเคราะห์ทางเคมีมีโลหะหนักอย่าง ตะกั่ว ปรอท สารหนู โครเมียม และสังกะสีผสมอยู่ จึงไปสะสมในร่างกาย จนเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นทางที่ดี ควรเลือกทานอาหารที่มีสีสันตามธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาดมากจนผิดปกติจะดีที่สุดค่ะ
      
9. อาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา ยาฆ่าแมลง และสารพิษ

          แน่นอนว่าการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา  ยาฆ่าแมลง และสารพิษต้องเป็นโทษต่อร่างกายแน่ โดยเฉพาะในเมล็ดธัญพืช อย่างพวกถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม หอม และอาหารที่เก็บไว้นานเกินไป อย่างนมหรือขนมปัง เนื่องจากในอาหารประเภทนี้จะมีการปนเปื้อนของเชื้อราแอสเปอจิลลัส ฟลาวัส ซึ่งผลิตสารสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ที่เป็นอันตรายสูง เมื่อกินไปมาก ๆ จะไปสะสมที่ตับ ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งตับได้เลย ที่สำคัญ สารพิษตัวนี้ทนความร้อนสูงถึง 260 องศาเซลเซียส ในขณะที่ความร้อนในการทำอาหารของเราอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียสเท่านั้น ดังนั้นความร้อนจากการทำอาหารจึงไม่สามารถทำลายสารอะฟลาท็อกซินได้ 

          ในส่วนของพืชผักใบเขียวที่เราซื้อมาบริโภคควรเลือกซื้อที่ปราศจากยาฆ่าแมลง โดยสามารถสังเกตได้จากพืชที่ไม่สวยมากจนเกินไป มีรูบ้างเล็กน้อย แต่อย่ามากเกิน เพราะนั่นหมายความว่ายังมีแมลงไปเกาะอยู่บ้าง จึงปราศจากยาฆ่าแมลงหรือพวกสารพิษนั่นเอง และที่สำคัญคือ ต้องนำมาล้างให้สะอาดด้วยค่ะ
     
          5 วิธีล้างผักลดสารพิษตกค้าง ทานได้ปลอดภัย หายห่วง
        

10. อาหารที่ใช้ทิชชูซับน้ำมัน

          กระดาษทิชชูที่เราใช้กันตามบ้าน เป็นกระดาษที่ผลิตจากกระดาษหมุนเวียนใหม่ จึงมีสารไดออกซินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หากนำมาใช้ซับอาหารก็ทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งได้มากขึ้น เพราะเนื้อเยื่อเล็ก ๆ ของกระดาษทิชชูจะติดอยู่บนอาหารที่เราทานเข้าไปด้วย นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตทิชชูยังใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟในการผลิต และใช้สารคลอรีนฟอกสี ดังนั้น การนำทิชชูทั่วไปมาซับอาหารจึงสามารถทำให้เกิดมะเร็งรวมถึงโรคอันตรายอื่น ๆ ได้
                 
          ไม่ใช่แค่หลีกเลี่ยงอาหารทั้ง 10 อย่างนี้แล้วจะห่างไกลจากมะเร็งนะคะ แต่เราควรต้องทานอาหารให้ครบหลักโภชนาการ ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันโรคมะเร็ง และโรคต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วยนะคะ 
      

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา, Naturalon, Eatthis, Thetruthaboutcancer

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

7 เทคนิคสู่การออกกำลังกายอย่างถูกวิธี

เทคนิคการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ

อาหารสําหรับผู้ป่วยเบาหวาน